วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554

กู่สันตรัตน์



กู่สันตรัตน์ เป็นโบราณสถานสร้างด้วยศิลาแลง พบอยู่บริเวณนอกเมืองโบราณ นครจำปา-ศรี ที่ตำบลกู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม แบบแผนผัง และรูปประติมากรรมที่พบ สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 18 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้า-ชัยวรมันที่ 7 ของอาณาจักรขอม กู่สันตรัตน์ ประกอบด้วยปราสาทประธาน 1 หลัง อยู่ภายในกำแพงรูปสี่เหลี่ยม มีซุ้มประตูด้านทิศตะวันออก อาคารที่เรียกว่าบรรณาลัยอยู่ที่มุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ และสระน้ำนอกกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนืออีก 1 สระ กรมศิลปากรขุดแต่งกู่สันตรัตน์ ในพุทธศักราช 2515 ได้พบหลักฐานสำคัญที่ช่วยอธิบายความเป็นมาของโบราณสถานแห่งนี้ชัดเจนขึ้น เป็นต้นว่า ประติมากรรมหินทราย รูปพระวัชรธร พระหัตถ์ขวาถือวัชระ พระหัตถ์ซ้ายถือกระดิ่ง พระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างน้อย ประทับนั่งปางสมาธิเหนือขนดนาคแผ่พังพาน ที่เรียกว่า พระพุทธรูปปางนาคปรก แบบอย่างศิลปกรรมขอม อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งสอดคล้องกับยุคสมัยของสถาปัตยกรรม

โบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ พระวัชรธร พระพุทธรูปนาคปรก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ประติมากรรมหินทราย เหล่านี้เป็นที่เคารพในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน รูปแบบศิลปขอมแบบบายน (ราว พ.ศ. 1720-1780)
กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 และประกาศขอบเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 99 ตอนที่ 155 วันที่ 21 ตุลาคม 2525 พื้นที่ 5 ไร่ 3 งาน 93 ตารางวา 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร กู่สันตรัตน์ เมื่อครั้งยังเป็นกิ่งอำเภอนาดูน เมื่อวันพุธ ที่ 27 ตุลาคม 2514 เวลา 16.25 น.
เป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่ซักครั้งหนึ่งควรได้ไป. เป็นสถานที่ ที่มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจอีกแห่งของจังหวัดมหาสารคาม. ขอบคุณภาพสวยจากคุณ Pisan

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น