วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554

สภาพภูมิศาสตร์


      จังหวัดมหาสารคาม มีลักษณะภูมิประเทศ โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ค่อนข้างเรียบถึงลูกคลื่นลาดยาว สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 130-  230 เมตร มีลำน้ำที่สำคัญ ได้แก่ ลำน้ำชี ลำเสียว ลำพังชู ลักษณะอากาศแบบมรสุมเมืองร้อน อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 26.9 - 28.2   องศาเซลเซียส มีผลตกเฉลี่ยในหนึ่งปี 120 วัน มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งสาธารณูปโภค ที่สำคัญได้แก่
*       แหล่งน้ำธรรมชาติ จังหวัดมหาสารคาม มีแหล่งน้ำธรรมชาติทั้งหมด 236 แห่ง แบ่งเป็น แม่น้ำ ห้วย ลำธาร คลอง 191 สาย ซึ่งทั้งหมดใช้ได้ในฤดูแล้ง และมีหนองบึง 45 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้มีสภาพใช้ได้ฤดูแล้ง 24 แห่ง อำเภอที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติมากที่สุด คือ อำเภอวาปีปทุมมีแหล่งน้ำ 40 แห่ง แบ่งเป็นแม่น้ำ ห้วย ลำธาร คลอง 37 สาย และมีหนอง บึง 3 แห่ง ในขณะที่กิ่งอำเภอชื่นชมมีแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยที่สุด คือ มีเพียงหนองบึง 3 แห่ง เท่านั้น และในจำนวนนี้ไม่สามารถใช้ได้ในฤดูแล้ง
*       ด้านทรัพยากรป่าไม้ จังหวัดมหาสารคามมีเนื้อที่ป่าไม้ 51,250 ไร่ หรือประมาณ 1.55 % ของเนื้อที่ทั้งหมดของจังหวัด เนื้อที่ป่าถูกบุกรุกทำลายไปเรื่อยๆ จนเหลือเพียง 20,625 ไร่ ในปี 2541 หรือ ประมาณ 0.62 % ของเนื้อที่ทั้งหมดของจังหวัด ป่าไม้ส่วนมากจะอยู่บริเวณอำเภอบรบือ นาเชือก นาดูน และวาปีปทุม เป็นป่าเบญจพรรณ ที่เรียกว่า"ป่าโคก" ในปี 2543 มีป่าสงวนแห่งชาติ 10 แห่ง มีเนื้อที่ประมาณร้อยละ 7.69 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด มีวนอุทยาน 2 แห่ง วนอุทยานโกสัมพีและวนอุทยานชีหลงมีสวนรุกชาติ 2 แห่ง คือ สวนรุกชาติพุทธมณฑลและสวนรุกชาติท่าสองคอน
*       แร่ธาตุ จังหวัดมหาสารคามมีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ คือ แร่เกลือหิน ซึ่งมีจำนวนมหาศาล ใต้พื้นดินจังหวัดมหาสารคาม เรียกว่า หน่วยหินมหาสารคาม ซึ่งเป็นชั้นเกลือหินหนาจัดอยู่ในกลุ่มหินโคราช กองเศรษฐธรณีวิทยา ได้คำนวณปริมาณเกลือสำรองของแร่เกลือในภาคอีสาน ว่าอยู่ประมาณ 18 ล้านล้านตัน ปัจจุบันจังหวัดมหาสารคาม มีโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเกลือสินเธาว์ จำนวน 16 แห่ง กำลังการผลิตรวมประมาณ 240,000 ตันต่อปี
*       แหล่งน้ำชลประทาน แหล่งน้ำชลประทานในปี 2544 ของจังหวัดมหาสารคาม ส่วนใหญ่เป็นโครงการชลประทานขนาดเล็กจำนวน 367 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ 116,940 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 4.50 ของพื้นที่ถือครองทางการเกษตรทั้งหมด ที่เหลือเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 1 , 18 และ 152 โครงการตามลำดับ ครอบคลุมพื้นที่ที่ได้ประโยชน์ 37,000 , 65,6800 และ 2,280 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.43 , 2.54 และ 0.90 ของพื้นที่ถือครองทางการเกษตรทั้งหมด ตามลำดับ โดยภาพรวม โครงการชลประทาน ของจังหวัดมหาสารคาม ในปี 2544 มีทั้งหมด 538 โครงการ สามารถเก็บกักน้ำได้ 79.716 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ 221,900 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 8.58 ของพื้นที่ถือครองทางการเกษตรของจังหวัด (2,585,064.40 ไร่)
*       บ่อบาดาลและบ่อน้ำตื้น ในปี 2541 จังหวัดมหาสารคาม มีบ่อบาดาลสาธารณะทั้งสิ้น 801 แห่ง คิดเป็นส่วนจำนวน หมู่บ้าน : บ่อบาดาลสาธารณะ เท่ากับ 1 : 0.45 ในขณะที่มีบ่อน้ำตื้นทั้งสิ้น 150 แห่ง
*       สถานีโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ในปี 2541 กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการจัดตั้งสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ในจังหวัดมหาสารคามแล้ว จำนวน 73 สถานี มีพื้นที่โครงการทั้งสิ้น 184,796 ไร่ และพื้นที่ส่งน้ำ 120,346 ไร่ อำเภอที่มีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้ามากที่สุด คืออำเภอเมืองมหาสารคามจำนวน 29 สถานี รองลงมา คือ อำเภอกันทรวิชัย อำเภอโกสุมพิสัย และอำเภอเชียงยืน จำนวน 20 , 20 และ 4 สถานีตามลำดับ ส่วนอีก 7 อำเภอ และ 2 กิ่งที่เหลือไม่มีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า สำหรับพื้นที่โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า รวมเท่ากับ 184,796 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 7.15 ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด ในขณะที่พื้นที่ส่งน้ำรวมเท่ากับ 120,346 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 4.66 ของพื้นที่ถือครองทางการเกษตรทั้งหมด


 ที่มา  http://www.phayakapumpisai.mahasarakham.police.go.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น